Example of Table Blog layout (FAQ section)

แค่ถุงผ้าแก้ปัญหาได้จริงหรือ

คอลัมน์ : นานาสาระ หนังสือพิมพ์สวรรค์นิวส์

เรื่อง : แค่ “ถุงผ้า” แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ? (1)

โดย ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ

หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)


 

เรื่องราวที่จะนำเสนอในวันนี้เกิดจากผู้เขียนไปเดินเล่นที่ตลาดนัด แล้วเห็นบรรดานักช็อปหลายคนเอาถุงหิ้วสิ่งของที่ไปช็อปมาใส่ในถุงผ้าอีกที!!! ก็เลยสงสัยว่าการเอาถุงพลาสติกใส่ลงในถุงผ้ามันถูกต้องแล้วหรือ? เรารณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าเพราะเชื่อว่าช่วยลดโลกร้อน แต่ไม่เคยมีการอธิบายวิธีใช้ไว้ข้างถุงเหมือนสินค้าทั่วไป คนที่รับถุงผ้ามาจึงไม่เข้าใจว่าเราควรถือถุงผ้าไปจ่ายตลาดหรือไปซื้อของเพื่อที่จะได้ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากแม่ค้า แต่ให้เอาสิ่งของที่ซื้อมาใส่ลงในถุงผ้าเลย ถ้าซื้อทั้งอาหารสด กับข้าว และเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างในคราวเดียวกัน ก็ให้ถือถุงผ้าไปหลายๆใบ แล้วแยกประเภทสิ่งของลงในถุงผ้าแต่ละใบก็เป็นอันใช้ได้แล้ว

ในต่างประเทศมีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกันอย่างจริงจัง ถึงขนาดงดแจกถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาเก็ต คนที่มาซื้อของจะต้องเตรียมถุงผ้า ตะกร้า หรือกระเป๋ามาใส่กับข้าวด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีก็ต้องซื้อกระเป๋าผ้าใบโตจากซุปเปอร์มาเก็ตใส่กับข้าวที่ซื้ออีกที หรือไม่ก็ต้องควักสตางค์ซื้อถุงพลาสติกเอง ดูสิ!เอาจริงเอาจังมากในการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช่ไม่เอาใจลูกค้า แต่เพราะเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมของโลกมากกว่าต่างหาก

นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา โลกเรามีเทคโนโลยีการผลิต มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จนองค์ความรู้ที่เรามีมาตั้งแต่ในอดีตไม่เพียงพอที่จะทำให้เรารักษาโลกใบนี้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ในภาพยนต์เรื่อง The Inconvenient Truth นำเสนอภาพถ่ายเปรียบเทียบธารน้ำแข็งในอดีตกับปัจจุบัน เราจะเห็นว่าธารน้ำแข็งหลายแห่งถอยร่นไปหลายกิโลเมตร บางแห่งไม่เหลือร่องรอยน้ำแข็งให้เห็นอีกเลย ทะเลสาบหลายแห่งที่เคยมีน้ำก็กลับแห้งเหือดเหลือแต่ซากเรือเก่าบนพื้นดินที่แตกระแหง ภูเขาน้ำแข็งที่อยู่บริเวณขั้วโลกก็มีขนาดเล็กลงและเริ่มแตกเป็นหลายก้อน อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้น 2-4 องศาทำให้เกิดผลกระทบที่แสนจะยุ่งเหยิง สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน และมนุษย์ยังไม่สามารถจะหยุดยั้งผลกระทบเหล่านี้ได้

เราเห็นข่าวพายุที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้นและถี่ขึ้น มีสภาพอากาศที่หนาวรุนแรงกว่าที่เคยเป็นแล้วก็ร้อนจัดจนเกินกว่ามนุษย์ในภูมิภาคนั้นๆจะทนได้ บางปีก็มีฝนตกมากเสียจนอ่างเก็บน้ำต่างๆรับไม่ไหวแต่บางปีก็แล้งเสียจนน่าใจหาย ไม่เพียงแต่เกษตรกรจะได้รับผลกระทบเข้าอย่างจัง ชาวเมืองทั้งหลายก็หนีไม่พ้นจากภาวะเหล่านี้เช่นกัน อากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วม ความผิดปกติของสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อพืชและสัตว์ ก่อให้เกิดโรคระบาดใหม่หลายโรค และหลายโรคก็มีอาการจากการกลายพันธุ์ของไวรัส

ภัยธรรมชาติ ภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร สุขภาวะของประชากรโลกมีความเสี่ยง ย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ภาวะโลกร้อนจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร หรือเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ใครๆก็นำมาใช้ แต่มนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คุ้นเคย และถึงแม้ว่าเราจะลงมือรักษาโลกของเราอย่างจริงจัง เราก็ยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 200 ปีเพื่อที่จะทำให้อาการป่วยของโลกเราหายไปได้

ดังนั้น แค่การแจก “ถุงผ้า” เป็นของชำร่วยในงานประชุม การขายถุงผ้าที่มีลวดลายเก๋ๆ หรือการนำถุงผ้าไปจ่ายตลาดก็คงไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงๆหรอก สิ่งที่ต้องทำคู่ไปด้วยคือการรณงค์อย่างจริงจังและลงมือแก้ไขอย่างจริงใจต่างหาก

ในฉบับหน้าจะได้กล่าวถึงภาวะโลกร้อนกับการท่องเที่ยวว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง ผู้ประกอบการหรือนักท่องเที่ยวกันแน่ที่เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย แล้วกิจกรรมอะไรบ้างที่จะทำให้การท่องเที่ยวแต่ละครั้งไม่ทำร้ายโลกของเรา


หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ

ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพะยา (UBI-CPU)