Example of Category Table layout (FAQs/Languages category)
คนต่างวัย...ใจไม่ตรงกัน
คอลัมน์ : นานาสาระ หนังสือพิมพ์สวรรค์นิวส์
เรื่อง : คนต่างวัย...ใจไม่ตรงกัน
โดย ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ
หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)
ในหนึ่งครอบครัวมีคนหลายวัยอาศัยอยู่ด้วยกัน ปู่ย่าตายายถือว่าเป็นคนรุ่น Generation Baby Boom, พ่อแม่ถือว่าเป็นคนรุ่น Generation X และคนรุ่นลูกนับว่าเป็นคนรุ่น Generation Y อาจจะมีวิถีชีวิต ความเชื่อ และทัศนคติที่แตกต่างกัน เป็นสาเหตุให้ไม่ลงรอยกันแม้ว่าจะรักและผูกพันกันมากก็ตาม
ในสังคมการทำงานก็เช่นกัน หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่าในองค์กรหนึ่งๆจะประกอบด้วยคนหลายรุ่น มีช่องว่างระหว่างวัยที่สร้างปัญหาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในบทความนี้ผู้เขียนจะสรุปลักษณะของคนแต่ละรุ่นให้เห็นเป็นประเด็นและจะได้อธิบายว่าแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่คนแต่ละวัยจะได้มีโอกาสทำความเข้าใจกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และในที่สุดผู้เขียนก็เชื่อว่าช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว และในสังคมการทำงานจะลดลงด้วยเช่นกัน
เพียงแค่เนื้อหาที่เปรียบเทียบในตารางก็มีความแตกต่างกันมากแล้ว คนในรุ่นแรกให้ความสำคัญกับงานมากกว่าครอบครัว หากมีงานด่วนหรือโครงการสำคัญรออยู่ก็จะเร่งทำให้เสร็จ ทุ่มเทใส่ใจในรายละเอียด แต่ถ้ามีเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนรุ่นที่สอง ก็อาจคิดว่าเลิกงานแล้วไว้วันจันทร์ค่อยว่ากันใหม่ ในขณะที่คนรุ่นสามอาจจะคิดว่าถ้างานหนักขนาดนี้เงินเดือนก็น้อย ย้ายที่ทำงานใหม่ดีกว่า คน Generation Baby Boom ให้ความสำคัญกับกติกา คาดหวังว่าผู้น้อยต้องให้ความนอบน้อม หากมีเรื่องจะปรึกษาหรือแจ้งให้ทราบก็ต้องเดินมารายงานให้ทราบอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ Generation X อาจจะยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาขออนุญาตเรียนให้ทราบ(ทางโทรศัพท์)ด้วยความเคารพ แต่รุ่น Generation Y อาจจะรู้สึกว่าส่งแค่ข้อความสั้นๆทาง sms และลงท้ายด้วยสัญลักษณ์การ์ตูนหน้ายิ้มก็น่าจะเพียงพอแล้ว คนรุ่น Generation Baby Boom คาดหวังว่าทุกคนต้องมาถึงที่ทำงานตรงเวลา คือ 8 โมงเช้า และตั้งใจทำงานเต็มที่โดยไม่มีเรื่องส่วนตัวหรือความบันเทิงเข้ามาแทรกแซง คนรุ่น Generation X อาจมาทำงานเช้าตรงเวลา แต่ก็อาจมีโทรศัพท์คุย(เม้าท์)เรื่องละครดังที่ออกอากาศเมื่อคืนนี้กับเพื่อน ในขณะที่คนรุ่น Generation Y อาจจะมาสายและบอกว่าเมื่อเช้านี้ได้เช็คอีเมลล์และทำงานผ่านทางโทรศัพท์มือถือแล้วขณะที่นั่งดื่มกาแฟในร้านระหว่างทางมาทำงาน เพราะเชื่อว่าสามารถทำงานได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการแต่ถ้าถึงเวลาก็มีงานส่งแน่นอน คนรุ่นแรกไม่ชอบการฝึกอบรม แต่จะเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ เชื่อในประสบการณ์จริง แต่คนรุ่นที่สองเป็นกลุ่มที่ชอบการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ เช่นการฝึกอบรม การไปร่วมสัมมนา หรือแม้แต่การเรียนเพื่อเพิ่มปริญญาอีกใบในตอนเย็นหลังเลิกงาน ส่วนกลุ่มหลังเป็นพวกไม่มีความอดทนที่จะนั่งในห้องเรียน ไม่ชอบการเป็นทางการ แต่เมื่อต้องการข้อมูลใดๆก็จะค้นหาในอินเตอร์เน็ต แม้แต่จะซื้อของก็จะหาในอินเตอร์เน็ตเช่นกัน เมื่อกลุ่ม Generation Y ไปทำงานโดยสวมชุดไพรเวท ฟัง iPod คนรุ่น Baby Boom ก็รู้สึกขวางหูขวางตา เหมือนเด็กไม่ให้ความเคารพตนเองและสถานที่ทำงาน เมื่อผู้ใหญ่เชื่อในเรื่องของประสบการณ์จริง การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำเอง ก็อาจไม่ค่อยสอนงานให้คนรุ่นใหม่ ปล่อยให้ทำงานเอง คนรุ่นใหม่ก็อาจมองว่าผู้ใหญ่ไม่มีน้ำใจ หวงวิชา กลัวรุ่นใหม่มาแทนที่ เป็นต้น ความจริงเรื่องที่เล่ามาข้างต้นเป็นลักษณะเฉพาะตัวของคนแต่ละรุ่น เกิดจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยีที่ต่างกัน ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน หากเราเปิดใจให้กว้างเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือองค์กรการทำงานก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน กลุ่มทางสังคมที่ร่วมมือกันย่อมเป็นสุขและประสบความสำเร็จได้มากกว่า คนรุ่นแรกอาจมีประสบการณ์ แต่ไฟในการทำงานอาจจะน้อยลงแล้ว ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีไฟในการทำงานมากแต่ขาดประสบการณ์ วิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไปแบบสมัยก่อนก็อาจจะไม่เท่าทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันแต่การเสพติดจนต้อง online ตลอดเวลาก็อาจทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน การอยู่ในสังคมซึ่งต้องมีคนหลายรุ่น การเคารพต่อกติกาและความอาวุโสของผู้ใหญ่ยังเป็นเรื่องสำคัญ การปรับตัวเข้าหากันจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะลดช่วงว่างของคนต่างวัยซึ่งใจไม่ตรงกันให้เข้าใจกันได้มากขึ้น
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)
|
||||||||||||||||||||||||||||||||