Creative Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์

คอลัมน์ : นานาสาระ หนังสือพิมพ์สวรรค์นิวส์

เรื่อง : Creative Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดย ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ

หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)


 

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้พูดถึงเรื่อง AFTA ว่าเมื่อไม่มีกำแพงภาษีในการค้าขายระหว่างประเทศแล้ว ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อย่างไร และจะมีการแข่งขันที่ขยายวงไปในระดับนานาชาติอย่างไร สินค้าที่ไม่มีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอาจจะไม่สามารถอยู่ในตลาดได้อีกต่อไป

ในช่วงนี้คำว่า Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและภาครัฐก็ได้พยามขับเคลื่อนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ Creative Economy ซึ่งหมายถึงรูปแบบของเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานของการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยรัฐบาลประกาศว่าจะจัดสรรงบประมาณหลักหมื่นล้านเพื่อพัฒนา 4 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ

  • กลุ่มนำมรดกทางวัฒนธรรมมาต่อยอดธุรกิจ (Cultural Heritage) ได้แก่ หัตถกรรม การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อาหารไทย และแพทย์แผนไทย
  • กลุ่มศิลปศาสตร์ (Art) ได้แก่ ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์
  • กลุ่มสื่อ (Media) ได้แก่ภาพยนต์ สิ่งพิมพ์ ถ่ายทอดภาพและกระจายเสียง และเพลง
  • กลุ่มสร้างสรรค์ตามหน้าที่ (Functional Creation) ได้แก่ ออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม โฆษณา และซอฟท์แวร์

จะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจคือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่สามารถเพิ่มมูลค่าได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้

ในด้าน Creative Marketing หรือการจัดการตลาดอย่างสร้างสรรค์นั้น ต้องเริ่มจากแผนการตลาดที่สร้างสรรค์ มีความคิดแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และปรับสิ่งที่เรามีให้เข้ากับความรู้สึกของลูกค้า ตอบสนอง taste ของลูกค้าให้ได้ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าชีวิตของเขาได้รับการเติมเต็มหรือดีขึ้นได้ เช่น เครื่องดื่มประเภทบำรุงสมอง เพิ่มความงาม หรือเสริมสร้างสุขภาพ ที่สามารถตอบวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้

การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ไม่เคยมีในตลาดมาก่อน ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เช่นกัน เช่น โทรศัพท์มือถือที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกายหรือแม้แต่การเผาผลาญพลังงานขณะออกกำลังกาย เรียกว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวสามารถทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นได้

ในเชิงการผลิต ผู้ประกอบการที่มีความถนัดในการสร้าง Economy of Scale หรือสร้างความได้เปรียบจากการผลิตเป็นจำนวนมากอาจจะแย้งว่าต่อไปก็ผลิตแบบ Mass Production ไม่ได้แล้วสิ ความจริงหากเราพิจารณาคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ดี เราจะพบว่าการประยุกต์สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นก็จัดว่าเป็น Creative Operation ได้เช่นกัน โดยเราจะรวมการผลิตแบบ Customized หรือการผลิตแบบเฉพาะรายหลายๆรายมาผลิตพร้อมๆกัน เช่น การผลิตเสื้อที่มีองค์ประกอบย่อยๆต่างกันตามคำสั่งพร้อมๆกัน โดยเริ่มจากผลิตออกมาเป็นเสื้อสีขาวทั้งหมดในคราวเดียวกัน แล้วนำไปย้อมสี หรือติดกระเป๋า กระดุม หรือเพิ่มลวดลายตามคำสั่งซื้อแต่ละรายอีกครั้งหนึ่ง เป็นการตอบสนองความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ มีผลดีต่อการบริหารจัดการผลิต และการจัดการทรัพยากรด้วย

หน่วยงานที่จะเป็นกำลังสำคัญขององค์กรในการผลักดัน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กระบวนการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นให้ได้ก็คือแผนกวิจัยและการพัฒนา หรือเรียกกันว่าแผนก R&D Research and Development รวมทั้งทำหน้าที่พัฒนาภายในองค์กร จัดกระบวนการทำงานที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ลดปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ สามารถทำงานแบบเพิ่มมูลค่าโดยอาศัยหลักการเพิ่มผลิตภาพ การกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการผ่านตัวชี้วัดหรือ KPIs และต้องทำการพัฒนาปรับปรุงผ่านกระบวนการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) เป็นสำคัญ

ด้วยหลักการเบื้องต้นนี้ ผู้ประกอบการก็สามารถนำพาธุรกิจของตนเองไปสู่ Creative Economy ได้แล้ว และหากเป็นอุตสาหกรรม 1 ใน 15 ประเภทที่อยู่ใน 4 กลุ่มที่ได้กล่าวแล้วในขั้นต้นก็ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอีกต่างหากด้วย

อ้างอิง : Smiles SME Magazine, Nov 2009

หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ

ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)