บทบาทของชุมชนต่อการท่องเที่ยว
ชื่อบทความ : บทบาทของชุมชนต่อการท่องเที่ยว
เขียนโดย : ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
ส่ง : หนังสือพิมพ์สวรรค์นิวส์
วันที่ : 31 กรกฎาคม 2552
การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุน อาศัยเพียงการบริหารจัดการที่ดีก็เพียงพอที่จะสร้างรายได้มาทำนุบำรุงสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้น และพัฒนาให้ทรัพยากรท่องเที่ยวแห่งนั้นมีความยั่งยืน คนที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวควรเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ ดังนั้นการบริหารจัดการให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นสำเร็จก็ควรเป็นคนในพื้นที่เช่นกัน
จากการเก็บข้อมูลของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าชาวจังหวัดนครสวรรค์ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวนครสวรรค์ไม่น้อยกว่า 8แสนคน แต่ละคนใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อวัน ส่วนมากจะใช้เป็นค่าซื้อสินค้าและของที่ระลึก โอกาสที่จะกลับมาเที่ยวซ้ำมีสูงถึงร้อยละ 98 โดยแรงจูงใจของการมาเที่ยวคือสถานที่ท่องเที่ยวเอง
ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศ การระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ผู้คนขยาดกับการเดินทางด้วยเครื่องบิน จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆในประเทศจะได้มีโอกาส “เกิด” บ้าง ในระดับชาติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ออกแคมเปญ “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” หวังกระตุ้นให้คนไทยหันมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยมีซุปเปอร์สตาร์ “เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์” เป็นพรีเซนเตอร์ รวมทั้งได้เปิด www.เล่าสู่กันฟัง.com เพื่อประกวดภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยวในประเทศที่ประทับใจ และล่าสุดยังได้กระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยโครงการ “12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน มหัศจรรย์เมืองไทยที่ต้องไปสัมผัส” เพื่อไม่ให้สถานการณ์การท่องเที่ยวถดถอยลงไปอีกในช่วง Low Season ที่กำลังจะมาถึง
นี่เป็นโอกาสอันดีของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆของจังหวัดนครสวรรค์ ในระดับจังหวัดก็มียุทธศาสตร์ของจังหวัดส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬามีงบประมาณส่งเสริมการท่องเที่ยว และที่สำคัญมีนักท่องเที่ยวที่ยังต้องการกลับมาเที่ยวซ้ำอีกเกือบ 100% ดังนั้นแกนนำเครือข่ายชุมชนต้อง “โหนกระแส” การส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ให้ได้ อาจพัฒนาต่อจากการรณรงค์ส่งเสริมที่เคยทำมาก่อน เช่นที่ อ.พยุหะคีรี ก็ได้จัดงานท่องเที่ยวตามรอยเสด็จของล้นเกล้ารัชกาลที่5 โดยนำเสนอวัดพระปรางค์เหลืองเป็นจุดเด่น เป็นต้น ชุมชนอื่นก็สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เช่นกัน โดยอาจสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกัน หรือจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวในแหล่งต่างๆอย่างชัดเจน และยังควรใช้โอกาสนี้ในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วย
แหล่งท่องเที่ยวขนาดเล็กจะไม่มีโอกาสเป็นที่รู้จักเลยหากชุมชนไม่แสดงบทบาทในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยตนเอง