คอลัมน์ : นานาสาระ หนังสือพิมพ์สวรรค์นิวส์
เรื่อง : การท่องเที่ยว...รูปแบบที่นึกไม่ถึง
โดย ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ
หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อข่าวสารอย่างมาก หากการเมืองมีความมั่นคง การเงินของประชาชนมีสภาพคล่องดี สังคมมีความสุข อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีความคึกคักอย่างมาก แต่หากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจของประเทศไม่มีความมั่นคง และประชาชนมีความกังวลต่อความเป็นอยู่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะซบเซาได้อย่างกระทันหันทีเดียว
หากผู้อ่านได้ติดตามข่าวสารงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยวประเภทงานไทยเที่ยวไทย ที่บริษัททัวร์ และโรงแรมต่างๆมาออกร้านเพื่อจำหน่ายแพคเกจทัวร์และห้องพักของโรงแรมในราคาถูก จะพบว่าแต่ละงานจะแข่งกันลดราคา หรือเพิ่มข้อเสนอพิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ หากมองในแง่ผู้บริโภคก็อาจจะรู้สึกดีที่ได้ซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ถูกลง แต่หากมองในเชิงธุรกิจ การลดราคาเพื่อแย่งลูกค้ากันกลับเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
หากเราลองหาแนวคิดในการท่องเที่ยวใหม่ๆที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆเพื่อดึงดูดใจลูกค้าก็อาจจะดีกว่าการใช้ราคาเป็นเครื่องล่อใจ
การท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (Nature Based Tourism)
- การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เป็นชื่อที่คุ้นหู และได้รับการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และยังดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
- การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (Marine Ecotourism) คล้ายกับแบบแรก แต่เน้นแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นรวมทั้งระบบนิเวศทางทะเลด้วย เช่น ป่าโกงกาง หมู่บ้านชาวเล เที่ยวชมที่อยู่ของปลาวาฬ
- การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา (Geotourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อดูความงามของภูมิทัศน์ที่มีความแปลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก เช่น อุโมงค์ ถ้ำบนหน้าผา ถ้ำน้ำลอด ถ้ำหินงอกหินย้อย ฟอสซิล รวมทั้งศึกษาธรรมชาติของหิน ดิน แร่ เป็นต้น
- การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism) คือการเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่เกษตรกรรม สวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และเลี้ยงสัตว์ อาจเข้าชมเพื่อความรื่นรมย์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ก็ได้ เช่น ชมทุ่งดอกทานตะวัน ป้อนอาหารแกะ รีดนมวัน เป็นต้น
การท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม (Cultural Based Tourism)
- การท่องเที่ยวเพื่อชมวัฒนธรรมและประเพณี (Cultural and Tradition Tourism) อาจไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเรามีประเพณีหลากหลาย เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ แต่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ หรือประชาสัมพันธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ กระตุ้นให้คนมาสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง
- การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (Historical tourism) คือการเดินทางไปเที่ยวยังโบราณสถาน ไปชมโบราณวัตถุ
- การท่องเที่ยวชนบท (Rural tourism) เป็นการเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านชนบทที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนบทในแถบภาคเหนือ สิ่งดึงดูดใจคือวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในรูปแบบที่เรียบง่ายและมีความสุข รูปแบบการท่องเที่ยวที่คล้ายกัน คือ
- การท่องเที่ยวชนกลุ่มน้อย (Ethnic tourism) เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นมา และวิถีชีวิตเฉพาะกลุ่ม
รูปแบบการท่องเที่ยวที่แนะนำ
นอกเหนือจากรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้และมีแนวโน้มเติบโตได้ดีสำหรับพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย เช่น
- การท่องเที่ยวเชิงศาสนา (Meditation Tourism) เป็นการเดินทางมาเพื่อศึกษาศาสนาหรือลัทธิต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการฝึกจิต ปฏิบัติธรรม ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในศาสนสถาน เช่น วัด สำนักสงฆ์ และที่ใช้รีสอร์ทเป็นสถานที่จัดอบรม
- การท่องเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ (Slow Tourism) เป็นการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า ให้ความสำคัญกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การปรุงอาหาร-การรับประทานอาหารแบบละเมียดละไม การใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ อาจตัดการสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีออกไป เรียกว่าเป็นการพักผ่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นรูปแบบที่กำลัง “มาแรง” จนมีการพัฒนา Slow Hotel และ Slow Package ออกมาให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการ
- การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ (Health Tourism) เช่น การล้างพิษ การรับประทานอาหารดิบๆตามธรรมชาติ (Raw Food) การฝึกโยคะ การงดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมบูรณ์ทางกายและใจ ซึ่งอาจมีการให้บริการสปาร่วมด้วย
- การท่องเที่ยวแบบบำเพ็ญประโยชน์ (Voluntourism) คนจำนวนมากมักมีความสับสนว่าหากจะจ่ายเงินไปเที่ยวแล้วยังต้องไปทำงานอาสาสมัครอีกหรือ ความจริงการเดินทางเพื่อไปบำเพ็ญประโยชน์นี้มีมาหลายปีแล้วแต่จำกัดอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ต่อมาแนวคิดนี้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโดยมีพื้นฐานความคิดว่าหากการไปเที่ยวแต่ละครั้งนอกจากจะเป็นการพักผ่อนแล้วหากสามารถเปิดโลกทัศน์และสร้างความดีได้ด้วยก็น่าจะดีไม่น้อย รูปแบบที่นิยม ได้แก่การไปปลูกป่า การทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ การสอนภาษาอังกฤษ การสร้างโรงเรียนหรือบูรณะซ่อมแซมสถานศึกษาให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส การเดินทางนี้อาจมีกิจกรรมร่วมกับการศึกษาศิลปวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่การศึกษาธรรมชาติ ก็ได้เช่นกัน
- การเดินทางตามรอยภาพยนต์ หรือเพลงที่กำลังได้รับความนิยม เช่น การเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่องดัง ซึ่งอาจจะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ หรืออาจเป็นเมืองใหญ่ทั้งเมืองและมีสถานที่ที่เป็นฉากสำคัญในเรื่องที่ต้องไปดูให้เห็นกับตาตนเองให้ได้ หรืออาจเป็นสถานที่ๆเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้แต่งเพลงสามารถแต่งเพลงจนดังได้ เป็นต้น
- นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการท่องเที่ยวที่เหลือเชื่อ เป็นการท่องเที่ยวในมุมมืดซึ่งมีผู้สนใจร่วมกิจกรรมด้วย เช่น การท่องเที่ยวในสถานที่เคยเป็นสมรภูมิรบ สถานที่เคยเกิดโศกนาฏกรรม เช่น Ground Zero บริเวณที่เคยเกิดเหตุการณ์911 บริเวณที่เกิดสึนามิ ค่ายกักกันนักโทษ เป็นต้น
การนำเสนอรูปแบบทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ น่าจะเป็นหนทางในการสร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยวได้ดีกว่าการลดแลกแจกแถม หากผู้ประกอบกิจการลองนำไปใช้ในการดึงดูดใจลูกค้าดู อาจได้ผลตอบรับที่ดีกว่าแบบเดิมๆที่ทำกันอยู่
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)
|
|
|