AFTA คืออะไร

คอลัมน์ : นานาสาระ หนังสือพิมพ์สวรรค์นิวส์

เรื่อง : AFTA คืออะไร?

โดย ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ

หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)


 

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เป็นข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2535 เป็นความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าอาเซียน เพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีฯให้เสร็จภายใน 15 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าอาเซียนในตลาดโลก โดยสมาชิกจะค่อยๆลดภาษีสินค้าทุกรายการให้เหลือ 0-5% ภายในปี พ.ศ. 2553 จากนั้นก็จะยกเลิกเครื่องกีดขวางทางการค้าทั้งหลายที่ไม่ใช่ภาษีให้หมดไปด้วย เช่น การจำกัดโควต้านำเข้า เป็นต้น ข้อตกลงนี้จะครอบคลุมสินค้าทุกชนิด ยกเว้นสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรม ชีวิตและศิลปะ อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน หมายความว่าการที่ได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นต้องประกาศลดภาษีสำหรับสินค้าชนิดเดียวกัน

ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์อะไร? อาเซียนจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญของไทย อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในอาเซียน การแบ่งงานกันผลิตชิ้นส่วนที่แต่ละประเทศสมาชิกมีความได้เปรียบจะส่งผลให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้

เกษตรกรไทยได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่? ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงในการเปิดเสรีทางการค้าในสินค้าเกษตร ซึ่งมีสินค้าผูกพันตามข้อตกลงจำนวน 23 รายการ ได้แก่ น้ำนมดิบ/นมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ลำไยแห้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง พริกไทย ข้าว เมล็ดถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง ชา เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ไหมดิบ น้ำตาล และใบยาสูบ

สินค้าเกษตรไทยต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การเปิดเสรีทางการค้าทำให้การผลิตสินค้าทางการเกษตรเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ มีการลงทุนโดยกลุ่มทุนการเกษตรคราวละมากๆ แต่เกษตรกรไทยมีพื้นที่จำกัด ขาดเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะช่วยพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ หรือให้ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ทำให้ไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศไม่ได้ ประกอบกับถูกมาตรการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าด้อยคุณภาพ ทำให้เกษตรกรไทยไม่พร้อมจะแข่งขันในระดับโลก และในขณะเดียวกันก็จะทำให้สินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศไทยไหลเข้ามาในประเทศ ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่าทำให้สินค้าเกษตรไทยขายไม่ได้ เมื่อเกษตรกรไทยไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรเพื่อแข่งขันในประเทศตนเองไม่ได้ เกษตรกรไทยก็อาจจะต้องสูญเสียอาชีพไปในที่สุด

ผู้บริโภคได้อะไร? ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคก็อาจจะซื้อสินค้าราคาถูกลงในระยะแรก แต่เมื่อเกษตรกรรายย่อยล่มสลายก็จะเกิดการผูกขาดทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคก็จะต้องซื้อสินค้าและอาหารราคาแพงตลอดไป

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะรับมืออย่างไร? อาจกล่าวว่าเป็นความโชคดีก็ได้ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะไปเจรจาขอเลื่อน AFTA ภาคการบริการการท่องเที่ยวออกไปอีกเป็น พ.ศ. 2558 เนื่องจากต้องการเวลาในการพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้มีความพร้อมและมีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขัน ในด้านผู้ประกอบการจะเป็นกังวลเรื่องการลงทุนว่าเมื่อต่างชาติมีความพร้อมด้านเงินลงทุนมากกว่าก็จะเข้ามาตีตลาดได้ แต่ธุรกิจนำเที่ยวไทยที่ไม่มีความพร้อมด้านเงินลงทุนจำนวนมากก็จะแข่งขันด้านการตลาดไม่ได้ นอกจากนี้การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน ในปี 2558 จะทำให้บุคลากรของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะยังมีจุดอ่อนทางด้านภาษาและไอที กลุ่มแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาก็จะหางานทำได้ยากขึ้น เพราะจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานเพราะความได้เปรียบด้านภาษา อย่างไรก็ตามกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมด้านบุคลากรด้านการท่องเที่ยวมากถึง 242 หลักสูตรเพื่อรับมือกับปัญหาด้านแรงงานที่จะมีขึ้น หลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรทั้งหมดนี้ต้องนำเสนอให้ที่ประชุมอาเซียนพิจารณาและรับรองหลักสูตรเพื่อให้เกิดการยอมรับก่อนนำไปใช้ ปัจจุบันหลักสูตรที่ทำเสร็จแล้วคือ หลักสูตรพนักงานต้อนรับในโรงแรมที่ได้เปิดทดลองใช้และพัฒนาให้ดีขึ้น และได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานเพื่อการออกใบรับประกันการผ่านงาน ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำประกาศนียบัตรนี้ไปสมัครทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทั้ง 10 ประเทศ (หลังจากกลุ่มอาเซียนเซ็นยอมรับในหลักสูตรอบรมมาตรฐานแล้ว)

การเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) มีทั้งประโยชน์และอุปสรรคต่อคนไทยในทุกภาคส่วนทั้งในฐานะผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ให้บริการ และผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องศึกษารายละเอียดและข้อตกลงต่างๆเพื่อเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่คาดได้ว่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งคว้าโอกาสที่จะมาถึง ก็จะดีกว่าการวิพากษ์วิจารณ์หรือวิตกกังวลจนเกินไป

ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข

ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และ

หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจแห่งมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา (UBI-CPU)